วันพุธที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560

พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง ปี 2560

บัญชีกลางเร่งทำกฎหมายลูก พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง ปี 2560
กรมบัญชีกลางเร่งทำกฎหมายลูกที่ออกตาม พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. .... หลังจาก สนช.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ เพื่อทุกหน่วยงานภาครัฐใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันแลtทำให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมีประสิทธิภาพ และลดปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในภาครัฐ
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยถึงความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. .... ว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. .... เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2559 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรอประกาศใช้อย่างเป็นทางการ และกรมบัญชีกลางได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อเร่งจัดทำกฎหมายลูกให้สอดคล้องครอบคลุมเนื้อหาในแต่ละมาตราของร่าง พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างฯ ให้แล้วเสร็จทันภายใน 180 วัน นับแต่ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่าจะมีผลใช้บังคับประมาณเดือนสิงหาคม 2560
 ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐมีกรอบการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน มุ่งเน้นเปิดเผยข้อมูลที่มีความโปร่งใสและเกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงิน เน้นการวางแผนและประเมินผลให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบและป้องกันการทุจริต ที่สำคัญจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังได้นำข้อตกลงคุณธรรมเข้ามาเป็นเครื่องมือในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโดยเน้นข้อตกลงร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานเจ้าของโครงการ ผู้เสนอราคา และผู้สังเกตการณ์ ทั้งนี้ผู้สังเกตการณ์ต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ มีความเป็นกลาง และไม่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการนั้นๆ ซึ่งการเข้าร่วมสังเกตการณ์ จะเข้าร่วมตั้งแต่เริ่มจัดทำร่าง TOR จนถึงสิ้นสุดโครงการ และประชาชนทั่วไปยังสามารถติดตามตรวจสอบข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างได้จากเว็บไซต์ www.gprocurement.go.th อีกช่องทางหนึ่งด้วย
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวต่อว่า การจัดซื้อจัดจ้างในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะมีเพียง 3 วิธี คือ 1. วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป โดยการให้ผู้ประกอบการทั่วไปที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดเข้ายื่นข้อเสนอ 2. วิธีคัดเลือก เข้าร่วมได้เฉพาะผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนด ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 3 ราย ให้เข้ายื่นข้อเสนอได้ เว้นแต่ผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามกำหนดน้อยกว่า 3 ราย และ 3. วิธีเฉพาะเจาะจง หน่วยงานภาครัฐเชิญผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดรายใดรายหนึ่ง ให้เข้ายื่นข้อเสนอหรือให้เข้ามาเจราจาต่อรองราคากับหน่วยงานของรัฐโดยตรง

ทั้งนี้ ยังให้ความสำคัญในเรื่องการลงโทษผู้กระทำความผิด โดยกำหนดบทลงโทษทางอาญากับผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 - 200,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
“กรมบัญชีกลางได้วางแผนและระดมบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ เพื่อเร่งจัดทำกฎหมายลูกให้สอดคล้องครอบคลุมเนื้อหา ในแต่ละมาตราของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ให้แล้วเสร็จทันภายใน 180 วัน รวมทั้งได้เตรียมการชี้แจงทำความเข้าใจประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนไว้แล้ว เชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะทำให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นระบบและเป็นมาตรฐานเดียวกัน กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความคุ้มค่าสูงสุดกับภาครัฐและที่สำคัญประเทศจะได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้อย่างมาก” นางสาวสุทธิรัตน์ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น