วันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2560

มาตรการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการก่อสร้างจากอุทกภัยน้ำท่วม


[ เมื่อทางสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ฯ  ได้รับทราบเรื่องร้องทุกข์และปัญหาความเดือดร้อนและผลกระทบที่เกิดจากอุทกภัยน้ำท่วม จากสมาชิกและผู้ประกอบการก่อสร้างแล้ว ทางสมาคม ฯ ก็ได้ดำเนินการนำข้อเรียกร้องและข้อเสนอดังกล่าวนั้น นำเสนอต่อภาครัฐเพื่อหามาตรการเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อน   ต่อมาทาง ภาครัฐก็ให้ความสำคัญ โดยออกมาตรการเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่ได้รับความเดือนร้อน ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ]



สังวรณ์  ลิปตพัลลภ  นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ฯ

-----------------------------------------

            จากการที่ทางสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้รับข้อร้องเรียน ข้อร้องทุกข์และปัญหาความเดือดร้อน ที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดอุทกภัยน้ำท่วมจากสมาชิกและผู้ประกอบการก่อสร้างนั้น   เมื่อทางสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ฯ ได้รับเรื่องดังกล่าวแล้ว ก็ได้รีบดำเนินการโดยท่านนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ฯ (คุณสังวรณ์  ลิปตพัลลภ)  ก็ได้ติดตามเรื่องและรับทราบปัญหาและได้ดำเนินการหาทางช่วยเหลือสมาชิก และผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนนั้น โดยทางสมาคมได้นำข้อร้องเรียนและข้อเสนอดังกล่าว นำเสนอทางภาครัฐ เพื่อให้พิจารณาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจากอุทกภัยน้ำท่วมนั้น  ทางสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยได้ทำหนังสือถึงภาครัฐที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง ครั้งที่ 1 ส่งหนังสือไปเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560 ครั้งที่ 2 ดำเนินการไปเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560    และครั้งที่สามก็ได้ยื่นเสนอหนังสือไปให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560    โดยเนื้อความของหนังสือนั้น ได้แบ่งประเด็นปัญหาความเดือดร้อนและรายละเอียดพอที่จะสรุปได้ในเบื้องต้นดังนี้
ข้อที่ 1   ขอให้พิจารณาขยายระยะเวลาก่อสร้างนับตั้งแต่วันที่เกิดเหตุอุทกภัย จนถึงวันสิ้นสุดสถานการณ์โดยยึดตามประกาศของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวผู้ประกอบการก่อสร้างมีความจำเป็นต้องเข้าฟื้นฟูพื้นที่โครงการที่ได้รับความเสียหายจากการถูกน้ำท่วม และน้ำท่วมขังเป็นเวลานานอีกทั้งยังจะต้องเร่งปรับปรุง ซ่อมแซมความเสียหายให้กับงานก่อสร้างที่ได้ดำเนินการไปแล้ว รวมถึงเครื่องมือเครื่องจักร และวัสดุที่ถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหาย
ข้อที่ 2 ขอให้พิจารณาขยายระยะเวลาก่อสร้างแก่จังหวัดใกล้เคียงเพิ่มเติมอีก 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดพังงา จากพื้นที่ดังกล่าวได้รับผลกระทบ สืบเนื่องจาก 12 จังหวัด ที่ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย โดยเฉพาะปัญหาเส้นทางการคมนาคมที่ได้รับความเสียหาย และปัญหาการลำเลียงวัสดุ เช่น หิน ดินทรายที่ใช้ในการก่อสร้าง
ข้อที่ 3 ขอให้ช่วยพิจารณา ออกเป็นมติคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐจะได้ถือปฏิบัติ โดยไม่ใช้ดุลยพินิจ
            โดยสรุป ทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อเสนอที่ทางสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ฯ ได้ดำเนินการนำเสนอภาครัฐให้พิจารณา หามาตรการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนนั้น   จากการที่ทางสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ฯ ได้ยื่นข้อเสนอไปแล้วนั้น  ทางภาครัฐก็ได้รับทราบปัญหา จึงได้ออกมาตรการ ช่วยเหลือผู้ประกอบการงานก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบ  อันเนื่องจากอุทกภัยในภาคใต้  โดยมีเนื้อความมาตรการช่วยเหลือ แก่ผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วม พอสรุปได้ ดังนี้
            คณะรัฐมนตรี มีความเห็นชอบให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐได้นำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบ อันเนื่องมาจากเหตุอุทกภัยภาคใต้  ที่คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุพิจารณาแล้ว ในการประชุมครั้งที่ 8/2560 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 ไปถือปฏิบัติในแนวทางเดียวกันโดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้นำมาตรการดังกล่าวไปบังคับใช้ในการจัดซื้อจัดจ้าง ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ
หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ แก่ผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบทางตรง หรือได้รับผลกระทบทางอ้อม จากการเกิดอุทกภัยในภาคใต้  ในช่วงเดือนธันวาคม 2559  ถึงเดือน กุมภาพันธ์  2560 มีดังนี้

ผู้มีสิทธิ์ ได้รับความช่วยเหลือ
           1. เป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างเท่านั้น
            2. ผู้ประกอบการก่อสร้าง ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วง ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559  ถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560
            3.   ผู้ประกอบการก่อสร้างที่มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือ  แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
            ประเภทที่
1 ผู้ก่อการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบทางตรง  ในพื้นที่ภาคใต้   12 จังหวัด ได้แก่จังหวัดพัทลุง จังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดตรัง จังหวัดสุราษฎร์ธานีจังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดกระบี่ และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ซึ่งเป็นจังหวัดที่ประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบอุทกภัยภาคใต้
            ประเภทที่ 2   ผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม  ในพื้นที่ภาคใต้ 2 จังหวัด ได้แก่จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต  ซึ่งเป็นจังหวัดใกล้เคียงกับพื้นที่ที่ประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบอุทกภัยภาคใต้   และได้รับความเสียหายใน 3 ลักษณะ คือปัญหาการขาดแคลนแรงงาน   ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบวัสดุก่อสร้าง  และปัญหาเส้นทางคมนาคมที่ได้รับความเสียหาย
             4. เป็นผู้รับจ้างที่ได้ลงนามทำสัญญาจ้างกับส่วนราชการ  รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ โดยบังคับใช้กับสัญญาจ้างก่อสร้างที่ได้ลงนามกับหน่วยงานก่อนวันที่   1 ธันวาคม 2559   หรือสัญญาจ้างก่อสร้างที่ได้ลงนามไว้กับหน่วยงานตั้งแต่วันที่   1 ธันวาคม 2559   ถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560   ซึ่งสัญญาดังกล่าวยังมีนิติสัมพันธ์อยู่และยังมิได้มีการส่งมอบงานงวดสุดท้าย  หรือสัญญาดังกล่าวยังมีนิติสัมพันธ์อยู่ แต่ได้ส่งมอบงานงวดสุดท้ายในช่วงวันที่ 1 ธันวาคม 2560 ถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่เกิดอุทกภัย
แนวทางการให้ความช่วยเหลือให้หน่วยงาน ขยายระยะเวลาขอสัญญาจ้างก่อสร้างที่เข้าข่ายหลักเกณฑ์ผู้มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือ ดังนี้


            (1) ขยายระยะเวลาออกไปอีกจำนวน 120 วัน สำหรับผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบทางตรง
            (2) ขยายระยะเวลาออกไปอีกจำนวน 70 วัน  สำหรับผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม
            นี้คือ มาตรการที่ภาครัฐ ได้ลงมติให้เป็นแนวทางการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบการงานก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบ จากการเกิดอุทกภัยน้ำท่วม  และจากนี้ไปผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบนั้น จะต้องทำการศึกษา และทำความเข้าใจในเนื้อหาของมาตรการ ว่าผลกระทบของกิจการเรานั้นจะเข้ากับมาตรการความช่วยเหลือในเงื่อนไขตามข้อใด แล้วก็ไปดำเนินการติดต่อ เพื่อขอรับความช่วยเหลือ ตามเงื่อนไขและมาตรการความช่วยเหลือของภาครัฐ ดังกล่าวได้ โดยตรง


------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น