วันศุกร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2561

ปรับค่าแรงขั้นต่ำ ปี 61



ปรับค่าแรงขั้นต่ำ ปี 61 ทั่วประเทศ 
 เริ่ม 1 เมษายน 2561

  นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ครั้งที่ 2/2561 ว่า คณะกรรมการค่าจ้างได้ประชุมพิจารณาการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2561 

           โดยได้ข้อสรุปร่วมกันในการปรับขึ้นซึ่งแบ่งเป็น 7 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1) ค่าจ้าง 308 บาท มี 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส  ระดับที่ 2) ค่าจ้าง 310 บาท มี 22 จังหวัด คือ สิงห์บุรี นครศรีธรรมราช ตรัง แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน เชียงราย สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี ศรีสะเกษ ตาก ชัยภูมิ อำนาจเจริญ แพร่ ราชบุรี ระนอง มหาสารคาม ชุมพร หนองบัวลำภู สตูล ระดับที่ 3) ค่าจ้าง 315 บาท มี 21 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด ประจวบคีรีขันธ์ นครสวรรค์ สระแก้ว พัทลุง อุตรดิตถ์ อุดรธานี นครพนม บุรีรัมย์ สุรินทร์ เพชรบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยนาท เลย ยโสธร พะเยา บึงกาฬ น่าน กาญจนบุรี อ่างทอง ระดับที่ 4) ค่าจ้าง 318 บาท มี 7 จังหวัด คือ จันทบุรี สมุทรสงคราม สกลนคร มุกดาหาร นครนายก กาฬสินธุ์ ปราจีนบุรี  ระดับที่ 5) ค่าจ้าง 320 บาท มี 14 จังหวัด คือ อุบลราชธานี สุพรรณบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา หนองคาย ลพบุรี ตราด ขอนแก่น สงขลา สุราษฎร์ธานี กระบี่ เชียงใหม่ นครราชสีมา พังงา  ระดับที่ 6) ค่าจ้าง 325 บาท มี 7 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา  และระดับที่ 7) ค่าจ้าง 330 บาท มี 3 จังหวัด คือ ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง





          ปลัดกระทรวงแรงงาน  ได้กล่าวต่อว่า อัตราค่าจ้างต่ำสุดอยู่ที่ 308 บาท ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ส่วนอัตราค่าจ้างสูงสุดอยู่ที่ 330 บาท คือ ภูเก็ต ชลบุรี และระยอง ขณะที่อัตราค่าจ้างกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลอยู่ที่ 325 บาท ส่วนที่เหลือจะลดหลั่นกันไปตามลำดับ    ทั้งนี้ มติที่ประชุมยังได้เสนอมาตรการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยมาตรการลดหย่อนภาษีโดย 1.5 เท่าของค่าจ้างแรงงาน สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ สำหรับสถานประกอบการที่มีลูกจ้างมากกว่า 50 คน ให้มีการจัดทำโครงสร้างอัตราเงินเดือน เพื่อให้ลูกจ้างเห็นความชัดเจนในการปรับขึ้นค่าจ้างในอนาคต นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีข้อเสนอให้มีการปรับค่าจ้างแบบลอยตัวโดยเริ่มนำร่องในพื้นที่สามจังหวัดระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกก่อน คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยให้ค่าจ้างลอยตัวที่เป็นไปตามความต้องการของผู้ประกอบการ  ด้วย




          ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะนำผลสรุปของคณะกรรมการค่าจ้างเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนจะประกาศบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2561 ต่อไป







///////////////////////////////////////////







สตาร์ทอัพประเทศไทย



สตาร์ทอัพ พลิกโฉมเศรษฐกิจไทย 4.0

            หลายประเทศในโลกต่างก็พยามยามพัฒนาตัวเองเพื่อขับเคลื่อนประเทศของตัวเองไปสู่ความเจริญ ความมั่งคั่ง และความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งหมดนี้เป็นความหมายของการที่ประชาชนภายในประเทศมีความอุดมสมบูรณ์ ไม่ขัดสนในการดำรงชีวิต  ประชาชนมีรายได้ดี เพียงพอต่อการนำมาเพิ่มคุณภาพชีวิตของตนเอง สามารถเป็นที่เพิ่งพิงของบุคคลอื่นได้ โดยจะมีการคิดค้น และพัฒนาเทคนิค องค์ความรู้ และผลิตสิ่งใหม่ ออกมาเพื่อหวังจะให้มาช่วยในการสร้างความสุข ความสำเร็จให้กับมนุษย์ได้ ประเทศไทยก็เช่นเดิมกัน ผู้ที่มีหน้าที่ในการบริหารประเทศ ย่อมจะต้องมองหาโอกาส และแสวงหา ช่องทาง  และเดินตามเส้นทางที่พิจารณาแล้วว่า จะสามารถนำพาพัฒนาประเทศ ไปสู่ความอุดมสมบูรณ์ ของประชาชนในชาติได้   ประเทศไทยก็เช่นเดียวกันผู้นำรัฐบาล และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังเดินเครื่องอย่างเต็มแรงที่จะพยายามนำ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่าง ๆ  มาสู่ขึ้นตอนปฏิบัติเพื่อพัฒนาประเทศ ซึ่งในยุคนี้แม่ทัพที่นำขบวนทางด้านเศรษฐกิจ  คือ ดร. สมคิด  จาตุศรีพิทักษ์ ได้กล่าว ได้พูดถึงนโยบายที่ภาครัฐ กำลังเร่งดำเนินการ ขับเคลื่อนประเทศ ไทยให้หลุดพ้นความยากจน  ในงาน สัมนา เรื่อง  สตาร์ทอัพ พลิกโฉม เศรษฐกิจไทย 4.0  อย่างน่าสนใจว่า



            เมื่อหลายปีก่อนผมเคยเรียนท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าเราน่าจะมีการจัดงาน Start Up พลิกโฉมเศรษฐกิจไทย ขึ้นสักครั้ง  เพราะผมมองว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งในปัจจุบันนี้เรามี Start Up (ธุรกิจ SME) ของประเทศกระจายไปทั่วทุกจังหวัด ซึ่งก็น่าจะถึงเวลาที่เราจะทำการรื้อฟื้น ระบบ Startup ขึ้นมาทำให้คนรุ่นใหม่ทั้งประเทศเกิดการตื่นตัวขึ้นมา ว่าถึงเวลาที่พวกเราจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง มาช่วยกันเป็นกำลังในการสร้างแรงขับเคลื่อนให้ประเทศเดินไปข้างหน้า  เมื่อหลายปีที่ผ่านมาผมพยายามที่จะบอกกับสังคมไทยว่า ประเทศเราไม่ได้ ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เพียงตัวเดียว  การจะทำให้ประเทศเจริญไปข้างหน้าได้นั้น เราจะต้องเป็นประเทศที่ประกอบไปด้วยเครื่องยนต์หลายตัว หรือต้องมีผู้ประกอบการจำนวนมาก  เป็นผู้ประกอบการต้องมาจากหลากหลายธุรกิจ   โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่มีความคล่องตัว มีความสามารถ เข้าใจโลกทันโลกน่าจะเป็นแรงผลักให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้เร็ว  ผมมีโอกาสได้เข้าไปทำงานในมหาวิทยาลัยในช่วงหนึ่ง  และก็ได้พยายามมที่จะให้มหาวิทยาลัยเกิดการเปลี่ยนแปลงในความคิด  ไปแนวทางปฏิบัติ 




            สิ่งเหล่านี้สามารถเพิ่มเปลี่ยนหรือกำหนดไว้ในหลักสูตรเปลี่ยนวิธีการในการเรียนการสอนได้  เพื่อสร้างอนาคตใหม่กับสิ่งเหล่านี้ล่วงหน้า และก็ได้ทำความเข้าใจกับผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาให้ปรับเปลี่ยนวิธีคิด ยอมรับแนวทางใหม่ ๆ กับการเปลี่ยนแปลงของโลก  โดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ท่านก็เข้าใจในเรื่องนี้ดี เพราะว่ากระทรวงท่านเป็นกระทรวงเล็ก แต่บุคคลากรนั้นไม่เล็ก มีบุคลากรในกระทรวงนี้มีค่าระดับมันสมองมหาศาล ในกระทรวงวิทยาศาสตร์ มีผู้ที่เป็นดอกเตอร์ 800 กว่าคนที่จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกมากมาย แต่ไม่มีใครสักคนที่จะหันมาสนใจกระทรวงวิทยาศาสตร์ในช่วงนั้น ไม่มีข่าวเกี่ยวกับกระทรวงวิทยาศาสตร์เลย  นักข่าวก็ไม่สนใจ นักการเมืองก็ไม่ค่อยสนใจจนกระทั่งวันหนึ่งผมตัดสินใจไปเยี่ยมท่านที่กระทรวงฯ วันนั้นนักข่าวตามผมไปมากกระทรวงวิทยาศาสตร์เริ่มตื่นตัวตั้งแต่วันนั้น และวันนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์เริ่มเป็นที่รู้จักของสังคมมากขึ้นคนรุ่นใหม่รู้จักกระทรวงวิทยาศาสตร์มากขึ้น  และในอนาคตผมก็อยากให้เด็กไทยเดินบนเส้นทางวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้นเช่นกัน

            ซึ่งวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และเรื่อง Start Up   เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างมากทั้งปัจจุบันและในอนาคต โดยเฉพาะประเทศไทยในช่วงนี้หลายคนก็คงได้ยิน และมีผู้พูดถึงกันบ่อย ๆ ในเรื่องของคำว่า Start Up ประเทศไทย 4.0   จริง ๆ แล้วเป็นคำที่พูดเปรียบเปรยถึงพัฒนาการของการพัฒนาประเทศของไทยจากขั้นหนึ่ง ไปสู่อีกขั้นหนึ่ง เราคงจำกันได้ว่า ประเทศไทยยุค 1.0  ก็หมายความว่าการที่เราเริ่มพัฒนาประเทศจากเกษตรกรรม มีการส่งออกสินค้าประเภทเกษตรกรรมไปยังต่างประเทศ  สมัยนั้นในตำราเรียนเราจะพูดถึงสินค้าที่ส่งออกของเรา นั้นจะเป็นพวก ฝ้าย ยางพารา ไม้สัก ดีบุก ต่อมาก็มาก็ก้าวมาสู่ประเทศไทย 2.0  เริ่มเข้าสู่การพัฒนาประเทศด้วยอุตสาหกรรมซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพึ่งพาการนำเข้า สุดท้ายก็เป็นการส่งออกเพื่อนำเงินตราเข้าสู่ประเทศ ต่อมาก็เข้าสู่ยุค 3.0 เป็นการพัฒนาสินค้าอุตสาหกรรม วิทยาการอิเล็กทรอนิกส์  อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์  เน้นการผลิตสินค้าด้านอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก  ซึ่งพบว่าในยุคนี้ประเทศไทยมีการพัฒนา ระบบเศรษฐกิจมีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีค่า GDP โตเป็น 10 เปอร์เซนต์ เป็นการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจที่เร็วมาก ในลักษณะก้าวกระโดด ในที่สุดก็เข้าสู่ยุควิกฤตทางการเงิน จนมาถึงปัจจุบันเป็นยุคของการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ปัจจุบันเศรษฐกิจประเทสไทยเริ่มมีการชะลอตัว แนวโน้มเริ่มมีปัญหาในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ  แต่ในช่วงหลังเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น  สัญญาณบวกเริ่มมี  การส่งออกเริ่มฟื้นตัว  และมีแนวโน้มว่าดีกว่าหลายประเทศในกลุ่มเพื่อนบ้าน แต่ไม่ใช่ว่าเราเก่งกว่า สาเหตุก็เนื่องจากว่าเรามีสินค้าที่หลากหลาย มีอะไรอย่างที่ไม่ดี แต่ก็มีบางอย่างที่สามารถมาทดแทนกันได้ ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจโลกก็กำลังชะลอตัว
            ประเทศจีนก็ลำบากเศรษฐกิจของเขาก็ไม่นิ่งเช่นกัน การที่เราประคองตัวได้ในลักษณะนี้ถือว่าเป็นความสามารถที่ประคองตัวไปได้ โดยเฉพาะภาคเอกชนของเจะรามีความสามารถในการส่งออกสูง แต่ก็อย่าประมาทยังวางใจไม่ได้  การลงทุนของเราก็มีสัญญาณบวก ในลักษณะทุนนอกตอบรับ แต่เรื่องนี้ยังไม่มีเงินลงทุนจริง เพียงแต่มีสัญญาณเท่านั้น

            ที่ผ่านมา ผู้บริหารระดับสูงของสายการบินแอร์เอเชียได้มาเข้าพบผมแล้วก็ไปพบท่านนายกรัฐมนตรีเขามาคุยว่าเขามีความเชื่อมั่นในประเทศไทยว่าจะเป็นเกตเวย์ (Gateway) เป็นจุดเชื่อมของสายการบินในภูมิภาคอาเชียนที่แท้จริง เขาเชื่อว่าไม่มีอะไรที่จะหยุดการเติบโตของอาเซียนได้อีกแล้ว  ถ้าประเทศไทยเป็นเกตเวย์ (Gateway) แน่นอนเราเป็นประตูเดียว เป็นประตูหน้าด้วย  ประเทศในกลุ่ม AEC จะมีการเชื่อมโยงเรื่องการท่องเที่ยวกันมากขึ้น เขาบอกว่าประเทศไทยน่าจะเป็นฮับเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวที่ดีที่สุด เขาบอกว่าเขาจะมาตั้งฐานที่เป็นสำนักงานศูนย์กลางการบินของแอร์เอเชียที่ประเทศไทยเป็นลักษณะร่วมลงทุนกับเรามากขึ้น เพื่อเตรียมรองรับการเจริญเติบโตในอนาคต เขามุ่งมั่นที่จะประยุกต์ ลงทุนในเรื่องการบินในภูมิภาค สำหรับการบริการการบินราคาต่ำ เพราะเขามองว่าคนอาเซียนส่วนใหญ่แล้วเป็นชนชั้นกลาง เป็นชนชั้นที่มีรายได้ไม่มากนัก แต่อยากท่องเที่ยวเขาจึงต้องการสร้างความสัมพันธ์การท่องเที่ยวจากหลายหลายเมืองในอาเซียนเพื่อป้อนคนเข้ามาสู่เมืองไทย โดยร่วมมือกับสายการบินของไทยนี้คือเจตนาของผู้บริหารระดับสูงของแอร์เอเชียที่เข้ามาเจรจา  ส่วน  Huawei ก็วางแผนมาตั้งออฟฟิศที่เมืองไทย แล้วสำนักงานก็เปิดตัวไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะเห็นว่าทุนจากต่างประเทศกำลังทยอยเข้ามาในเมืองไทยมากขึ้น  ถ้าคนไทยไม่ทำร้ายตัวเราเองก่อน อนาคตข้างหน้าของเราน่าจะดีขึ้นอนาคตมันจะดีขึ้นก็เพราะว่าสัญญาณที่ดีภายนอกมีเข้ามา  นอกจากนั้นก็เป็นการลงทุนจากภาครัฐบาล ซึ่งในเรื่องนี้ผมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็เข้าไปเร่งรัดงานให้มีการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจให้เร่งเดินหน้าด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่อง ส่วนโครงการดำเนินการของรถไฟแต่ละสายก็ได้เร่งรัดให้ดำเนินการอย่างรวดเร็ว  ดังนั้นมูลค่าของ GDP ก็น่าจะสูงขึ้น การส่งออกก็ยังน่าสนใจ  การท่องเที่ยวของประเทศก็มีมากเป็นประวัติศาสตร์ เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าประเทศกำลังจะดีขึ้น  เราไม่ได้บอกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น แต่เราบอกว่าสัญญาณมันดีขึ้นแล้ว  ผมเป็นเด็กที่เกิดในย่านเยาวราช  สมัยก่อนติดไฟต้องใช้เตาถ่านยังไม่มีเตาแก๊ส  เวลาที่ไฟกำลังจะเริ่มคลุฝุ่นมันจะเริ่มติดที่ถ่าน  เมื่อไฟติดหน้าที่ของเราต้องค่อย ๆ พัด  แล้วมันจะค่อยค่อยติดแล้วก็ลุกเป็นไฟขึ้นมา นั่นมันก็คล้าย ๆ  กับเรื่องการบริหารธุรกิจ  ซึ่งในหลักการของผมเป็นแบบนี้ไม่ได้ใช้ทฤษฎีมาจากต่างประเทศ  แต่เกิดจากประสบการณ์ในการใช้ชีวิต การทำอะไรต้องค่อยเป็นค่อยไปถ้าเราพัดแรงไปขี้ไต้ดับแน่นอน  พัดเบาไปไฟก็ไม่ติด แต่เรื่องที่ควรระวังอย่างมาก ถ้าไฟกำลังจะติด จะมีคนรอบข้างมาช่วยเป่าหรือช่วยพัดแรง ๆ  อย่างนี้ไฟดับแน่  แต่ไม่เป็นไรกำลังใจอย่าเสียก็แล้วกัน  สัญญาณเศรษฐกิจกำลังจะดีขึ้น  ทุกคนก็อยากให้ประเทศมันดีขึ้นอยู่แล้ว คนไทยเราก็ต้องช่วยกันโดยผมจะพยายามใช้เวลาที่เหลืออยู่มาวางพื้นฐานให้มันดีขึ้น  ผมเชื่อว่าในการวางพื้นฐานไว้ดีแล้วไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาบริหารประเทศก็น่าจะเดินตามวิธีการนี้  ถ้าเรามาเปรียบเทียบสถิติย้อนหลัง 15 ปีที่ผ่านมาลองมาศึกษาค่าของ GDP ผมจำได้ว่าประมาณปี 2545  ถึง 2548   ประมาณ 3 ปี GDP โตประมาณ 6 -7    เปอร์เซ็นต์  ปี 2549   ถึง 2550   GDP ขยับลงมาถึง 4 - 5 เปอร์เซ็นต์  หลังจากปี 2550   ขึ้น 2551 เรื่อยมาจนถึง 3 ปีสุดท้ายที่ผ่านมา ค่า GDP มาถึงประมาณ 2 .00  เปอร์เซ็นต์  ถ้าเราดูย้อนหลังค่า GDP 15 ปีย้อนหลังอย่างนี้  ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5  ซึ่งจะมีลักษณะลดลงเรื่อย ๆ เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเพราะการเมืองผันผวนอย่างเดียว แต่เป็นเพราะว่าโครงสร้างเศรษฐกิจของเรานั้น น่าจะมีปัญหาข้อสังเกตข้อนี้ก็เป็นข้อเตือนใจและเข้าใจได้
การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ผ่านมา โดยใช้วิธีการจำนำ ก็เป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ไม่ค่อยถูกทาง และก็ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้อย่างถาวร  เราจึงพยายามที่จะเริ่มต้นแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ถ้าเรามองว่าถ้าการเกษตรมีความลำบากมาก ถ้าจะนำระบบประเทศไทย 4.0 หรือระบบสตาร์ทอัพมาช่วยได้อย่างฉับพลันมันก็คงเป็นคนละเรื่องกัน  ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมในประเทศไทยมีทั้งหมด 30 ล้านคน  ถ้าใช้วิธีแก้ไขช่วยเหลือประชากรเหล่านี้  โดยการทุ่มงบประมาณลงไปอย่างเดียวคงไม่พอ ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับ SME ให้เขาด้วย ให้เขาเรียนวิธีการดำเนินการผลิตแบบใหม่ ๆ  ถ้าเราทำได้อย่างต่อเนื่องก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ในภาคอุตสาหกรรมเราก็รู้ว่าเราจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปไม่ได้ ความสามารถในการแข่งขันของเราเริ่มถดถอย การส่งออกก็เริ่มสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ โดยเฉพาะประเทศเล็ก ๆ อย่างสิงคโปร์เขามีความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาตนเอง เขาต้องดิ้นรนเขาต้องทำงานหนัก เพราะเขารู้ตัวว่าเป็นประเทศเล็ก ทรัพยากรมีจำกัด ถ้าเขาไม่ทำงานหนัก ไม่แข่งขันอย่างหนักเขาก็จะอยู่ไม่ได้   พวกเขาต้องทำงานหนักกว่าประเทศมาเลเซีย ทำงานหนักกว่าประเทศไทยเพื่อให้ประเทศของเขายืนอยู่ข้างหน้าในโลกการแข่งขันได้อย่างมีความสง่างาม  ส่วนประเทศไทยเราก็รู้ว่าในอนาคตการแข่งขันเป็นอย่างไร การส่งออกเราก็ต้องปรับตัวเองโดยนำนวัตกรรมมาปรับใช้ แล้วนวัตกรรมมาจากไหน คนไทยส่วนมากยังไม่รู้เลยว่านวัตกรรมมันคืออะไร  ซึ่งการเกิดของนวัตกรรมนั้น ประการแรกทุกภาคส่วนต้องมีส่วนช่วยเหลือกัน ก่อน ประการต่อมาต้องเริ่มต้นจากการทำวิจัย ต้องลงทุนในเรื่องเทคโนโลยีคิดค้นวิธีการใหม่ ๆ   ด้วยการนำวิจัยมาเป็นจุดเริ่มต้น  ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการลงทุนเพื่ออนาคต แต่สำหรับในประเทศไทยมีบริษัทรวมกันก็หลายหมื่น ไม่มีแม้บรัทเดียวลงทุนเรื่องการวิจัย   




จะมีกี่บริษัทที่ลงทุนเรื่องการยกระดับเทคโนโลยีการผลิตของตัวเอง แต่กลับมองว่าการลงทุนเรื่องนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นแล้วมานั่งภาวนาว่าเมื่อไหร่ค่าเงินบาทจะอ่อนลงการส่งออกจะได้ดีขึ้น แนวคิดของผู้ประกอบการไทยยังเป็นแบบนี้จึงไม่มีการพัฒนาใด ๆ เลย นวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นได้จะต้องเริ่มที่การมองถึงอนาคตที่เป็นจริง ที่ผ่านการศึกษาวิจัย ผ่านกระบวนการทำงาน ในด้านพัฒนาเทคโนโลยี   การคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ  จากที่ผ่านมา 10 ปี 20 ปี ผู้ประกอบการไทยมีนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยในการผลิตสินค้าของตนเองมากน้อยแค่ไหน และที่จะสามารถนำมาแข่งขันกับชาวโลกเขาได้  ถ้าเรามองย้อนกลับอีกว่าบริษัทใหญ่ ๆ ของไทยมีกี่บริษัท เราสามารถนับได้ทั้งประเทศมีไม่เกิน 20 บริษัท  ถ้าบริษัทใหญ่มีแค่นี้ประเทศเมืองไทยจะเติบโตได้อย่างไร  จะจ้างแรงงานได้อย่างไร  ในขณะเดียวกันภาคการเกษตรของเราก็เริ่มอ่อนแอไปเรื่อย ๆ ผู้ผลิตมีอยู่นิดเดียว ประเทศเรามีความจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องสร้างผู้ประกอบการใหม่  ในอดีตผู้ประกอบการที่เรามีอยู่ก็คือผู้ประกอบการ  SME
            เมื่อ 15 ปีที่ผ่านมามีพรรคการเมืองภาคหนึ่ง มีแนวคิดในการสร้าง SME ให้เข้มแข็ง ให้สามารถยืนอยู่บนขาของตัวเองได้  ทำให้เกิดแนวคิดขึ้นมาที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้  ด้วยพื้นฐานของทักษะ ความรู้ความสามารถของตัวเองมี ความคิดเป็นของตัวเองไม่ว่าจะเป็นการผลิต  การจัดจำหน่าย ซึ่งในช่วงนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีที่จะมาช่วยพัฒนาธุรกิจเล็ก ๆ เหล่านั้นได้   แต่มาถึงปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนามาก และมีหลายอย่างที่สามารถนำมาประยุกต์ นำเข้ามาช่วยเป็นตัวสนับสนุน และส่งเสริมธุรกิจเหล่านี้ได้  เรากำลังจะลงทุน SME ทั่วประเทศ  โดยมีงบประมาณแน่นอนที่จะลงทุนไปหมื่นกว่าล้านบาท  ผมเคยถามผู้บริหารกระทรวงไอทีซี หรือกระทรวงดิจิทัลว่า  อีก 5 ปีข้างหน้าจะมีงบลงทุนเท่าไหร่ ก็ได้รับคำตอบว่ามีประมาณเป็นแสนล้านบาท เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เราต้องมีเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน  จะสร้างเครื่องยนต์ให้เกิดขึ้น หลาย ๆ ตัวไม่ใช่มีแค่ 20 ตัว  แต่จะให้เกิดขึ้นเป็นร้อย เป็นพันและหลายหลายหมื่นตัว แล้วก็วิ่งขับเคลื่อนประเทศไปพร้อม ๆ กันนี้คือวิธีการสร้าง Start Up ประเทศไทย  นี้คือเป้าหมายที่เราจะต้องสร้างจุดนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้  เราจะต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนในการที่จะเดินไปข้างหน้าให้พร้อม  สิ่งสำคัญที่สุดในจุดเริ่มต้น คือแนวคิด เราต้องเปลี่ยนแนวคิด

คำว่า Start Up ของเมืองไทย อย่าให้มันเป็นแค่ คำขวัญ  และของเราไม่เหมือนกับประเทศอื่น การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้จากต่างประเทศก็เช่นกัน เราก็มาประยุกต์ให้เหมาะกับเรา Start Up ของก็เราไม่ใช่แบบประเทศสิงคโปร์  แท้จริงแล้วเราคือ เรามีองค์ประกอบหลายอย่าง เรามีทั้งภาคการเกษตร   อาหาร การท่องเที่ยว มีสารพัดอย่างที่ประเทศอื่นเขาไม่มี   กรอบพัฒนาไปสู่ความเข้มแข็งของประเทศเรามีมากมายมหาศาล ถ้าเราสามารถสร้าง Start Up ทางด้านการเกษตร การท่องเที่ยว ด้านการโรงแรม การบริการ  โลจิสติกส์  ซึ่งทั้งหมดนี้เราต้องสร้างขึ้นมา การที่เราจะเข้ามาในธุรกิจได้ผู้ประกอบการต้องมีความคิดสร้างสรรค์  ซึ่งจุดเด่นของเรามีมากกว่าประเทศอื่นก็คือความหลากหลายของธุรกิจ  เรามี อุตสาหกรรมการเกษตร ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายฐานที่แท้จริงของเรา  และพื้นฐานเหล่านี้เราจะนำเทคโนโลยีเข้าไปเสริม ถ้าเราพูดถึงคำว่าการทำการเกษตรเมื่อมาถึงจุดนี้แล้วคง ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปนั่งปลูกข้าวด้วยแรงงานเหมือนในอดีต  แต่เราจะนำเทคโนโลยีเข้ามาปฏิวัติ  มาพัฒนาการเกษตร มาสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าการเกษตร  การผลิตพันธุ์พืชใหม่ ๆ  การส่งออกโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย   สามารถส่งขาย และส่งออกไปทั่วโลก  นี้คือเป้าหมายในการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงแนวทางการเกษตรยุคใหม่  ลองนึกภาพดูว่าถ้าคนหนุ่มสาวยุคใหม่ของเรา มีแนวความคิดมี สมอง เริ่มเข้าใจ สนใจออกไปทำภาคการเกษตร  มองหาช่องทางการตลาดอาหารใหม่ ๆ  นำเทคโนโลยีมาช่วยแปรรูปสินค้าการเกษตร  ติดต่อค้าขายทางสินค้า ทาง E - Commerce   เริ่มจากธุรกิจเล็ก ๆ แล้วค่อย ๆ เติบโต เราต้องมองหาจุดเด่นของเรามาพัฒนา มาสร้างมูลค่า  ถามว่าประเทศอื่นมีเหมือนเราไหม  ประเทศสิงคโปร์ ประเทศมาเลเซียมีไหม  นี้คือความโดดเด่นที่เรามีมากกว่า  

            โดยเฉพาะท่านนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสนใจว่า น่าจะเข้าไปช่วยผู้ประกอบการที่เป็นธุรกิจเล็ก ๆให้สามารถเติบโตได้ด้วยตัวเอง ยกตัวอย่างธุรกิจที่หลากหลายที่จัดจำหน่ายอยู่ในตลาดสวนจตุจักร  ซึ่งเขาทำธุรกิจเล็ก ๆ เริ่มต้นผลิตสินค้าด้วยตัวเองมีแนวคิด มีทักษะ มีความสาสารถ รอบรู้ในผลิตภัณฑ์ของตัวเอง โดยเฉพาะสินค้าทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ  ควรจะส่งเสริมให้เขามีเงินทุน สามารถพัฒนาสินค้า แล้วส่งออกไปยังต่างประเทศได้  คำว่า  Start Up ในความหมายที่เรากำลังพูดถึงคือสิ่งเหล่านี้  

            ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ในอนาคต ก็มั่นใจได้ว่าธุรกิจในบ้านเราจะเติบโตได้มาก เพราะเด็กรุ่นใหม่ของเราเก่ง มีความรู้มีทักษะ มีแนวความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาปรับปรุงสินค้าของตัวเองอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เขาขาดคือไม่มีใครเข้าไปสนับสนุนให้เติบโต  นี้คือสิ่งที่ประเทศเรามีที่เหนือกว่าประเทศอื่น เราต้องกลับมามอง เพื่อพัฒนาสิ่งที่โดดเด่นของเราให้เติบโตได้มากขึ้น จากธุรกิจ  SME เล็ก ๆ เหล่านี้พยายามให้เขาเดินได้ ธูรกิจเติบโต จนสามารถแข่งขันได้อย่างถาวร นี้คือความหมาย คำว่า Start Up  ของไทย
---------------------------------------------------------------------------------------------------------

วันเสาร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2560

อุปกรณ์ป้องกันอันตราย (Safety)

Safety

          เครื่องมือและอุปกรณ์ความปลอดภัย (Personal Protective Devices (PPP) หรือ Personal Protective Equipment (PPE)  นับว่ามีความสำคัญ และมีความจำเป็นมาก  สาหรับผู้ปฏิบัติงานในขณะปฏิบัติงาน การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน อันตรายนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ปฏิบัติในหน้างานทุกหน้าที่ระดับใดต้องสวมใส่ กันทุกคนเพราะอุปกรณ์เหล่านี้จะช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุได้  สามารถช่วยลดขีดระดับอาการบาดเจ็บจากหนักให้เป็นเบา จากเบาก็กลายเป็นปลอดภัย  เช่น ถ้าใช้เครื่องมืออุปกรณ์ความปลอดภัยก็จะทำให้ลดความเสี่ยงในการทำงานมากกว่าเดิม การใช้เครื่องมือ  ดังนั้นการใช้อุปกรณ์ ป้องกันความปลอดภัยทุกชิ้นล้วนมีความหมาย และเป็นวิธีการหนึ่ง ในหลายวิธีในการป้องกันอันตรายจากการทำงาน ซึ่งโดยทั่วไปจะมีการป้องกันและควบคุมพื้นที่ทำงาน และสิ่งแวดล้อมบริเวณของการทำงานก่อนการทำงานเสมอ  โดยการกำหนดและ ปรับปรุงสภาพทางวิศวกรรม โดยการกั้นแยกเป็นส่วน ๆ ไม่ให้ปะปนกับสิ่งอื่น  หรือการใช้เซฟการ์ดแบบต่าง ๆ หรือการที่จะต้องปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เปลี่ยนกรรมวิธีการทำงาน ส่วนในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ ก็จะประยุกต์วิธีการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายที่เหมาะสมมาใช้ประกอบด้วย เพื่อช่วยป้องกันอวัยวะและส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ในส่วนที่จำเป็นต้องสัมผัสกับงาน เพื่อ ไม่ให้ประสบกับอันตรายจากภาวะอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในขณะทำงานได้

        หมวกป้องกันศีรษะ (Head Protection Devices)   หรือเรียกอีกอย่างว่า หมวกนิรภัย  เป็นอุปกรณ์นี้ ใช้สำหรับสวมเพื่อป้องกันศีรษะไม่ให้ได้รับอันตราย จากการถูกกระแทก  หรือชน จากวัตถุที่อาจจะตกลงมาจากที่สูงแล้วมากระทบกับศีรษะ  หมวกนิรภัย ที่ดีควรมีคุณสมบัติที่ แข็งแรง  ทนทานต่อการถูกกระแทก ส่วนมากแล้วจะทำด้วยวัสดุที่แข็งแรงเป็นพื้นฐาน  ส่วนรายละเอียดจะแตกต่างกันไปตาม ประเภทของการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายที่แตกต่างกัน



แว่นนิรภัย (Eye Protection)  อุปกรณ์ป้องกันดวงตาจากสารเคมี หรือ วัสดุอื่น ๆ   ที่อาจเกิดขึ้น ในขณะปฏิบัติงาน  ซึ่งอาจกระเด็นเข้าตา ทำให้ตาบอดได้ โดยปกติแว่นตานิรภัยที่ใช้ในวงการอุตสาหกรรม ประเภทเคมี  ประเภทอุตสาหกรรมงานไม้  ประเภทอุตสาหกรรมงานเครื่องมือ เครื่องจักรกล  ประเภทงานเชื่อมไฟฟ้า และประเภทงานเชื่อมแก็ส โดยแว่นตานิรภัยจะทำจากพลาสติก หรือกระจกนิรภัย เพื่อป้องกันไม่ให้เศษวัสดุที่แตกออกมา กระเด็นเข้าตาของผู้ปฏิบัติงานได้

                



           หน้ากากกรองฝุ่นละออง (Respirator) เป็นอุปกรณ์ป้องกันการหายใจ เมื่อปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น  ใช้กรองฝุ่น ควัน  ฟูมโลหะ กรองก๊าซไอระเหย ที่กระจายออกมาในอากาศ             ซึ่งหน้ากากกรองฝุ่นละอองนี้   ปัจจุบันก็มีให้เลือกใช้งานหลายรูปแบบ โดยแบ่งกันไปตามประสิทธิภาพการใช้ในการกรองอากาศ และประเภทของไส้กรอง นั้น ๆ



อุปกรณ์ป้องกันหู  (Ear Protection)  อุปกรณ์นี้ใช้สำหรับปิดหู  ป้องกันเสียงที่ดังมากเกินไป ซึ่งอาจจะเกิดอันตรายต่อเยื่อหู ของผู้ที่กำลังปฏิบัติงานได้  นิยมใช้ในการทำงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ  เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมการผลิต รวมทั้งการทำงานกับเครื่องจักรกลหนัก เช่น เครื่องถลุงเหล็ก เครื่องเจาะปูน เครื่องปาดคอนกรีต เครื่องจักรกลอัตโนมัติ ขนาดใหญ่ที่มีเสียงเกินดังที่หูจะรับได้หรือไม่ ก็เป็นการทำงานในพื้นที่ ๆ ควรระมัด ระวังในเรื่องเสียงเป็นกรณีพิเศษ



                                                           
         ถุงมือนิรภัย (Hand Protection) ใช้เพื่อป้องกันมือจากการถูกความร้อน ความสกปรก การกระแทกสะเก็ดไฟ การเสียดสีหรือ การบาดคม ถุงมือนิรภัยมีหลายประเภท เช่น ถุงมือป้องกันงานเลื่อยด้วยมือ ถุงมือป้องกันงานเครื่องจักร ถุงมือป้องกันทั่วไป ถุงมือป้องกันงานเย็น ถุงมือป้องกันงานเชื่อม และงานประเภทอื่นที่ต้องการความปลอดภัย ในขณะที่ใช้มือทำงานที่อาจเสี่ยงอันตราย  ส่วนวัสดุที่ใช้ทำถุงมือนั้น  จะนิยมใช้วัสดุประเภท  หนังวัว หนังกวาง หนังหมู และหนังแพะ  เนื่องจากมีความหนา ทดทาน และยึดหยุ่นต่อการเคลื่อนไหวได้ดี






 

   เสื้อสะท้อนแสง (Reflective Clothing)  ลักษณะเสื้อเป็นตาข่าย นิยมใช้สีส้ม คาดแถบสีที่ทำให้สะท้อนแสงหรือ ตาข่ายสีเขียวคาดแถบสะท้อนแสงสีเงินบรอนซ์ ทั้งด้านหน้า และด้านหลัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ มองเห็นผู้สวมใส่ได้ชัดเจน ขณะปฏิบัติหน้าที่ในงาน   เช่น งานถนนตีเส้นจราจร งานก่อสร้าง และงานต่าง ๆ ในโรงงาน เพื่อทำให้เกิดความปลอดภัย ในขณะทำงาน








เข็มขัดนิรภัย (Safety Belt) เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันอันตรายจากการทำงานในที่สูง จะต้องมีสายรัดลำตัวคาดไว้ ซึ่งเริ่มตั้งแต่หัวไหล่ หน้าอก เอว และขา ให้เกี่ยวติดกันกับสายช่วยชีวิต เพิ่มความปลอดภัยให้มากขึ้นเนื่องจากเข็มขัดนิรภัย (Safety Belt)  นี้จะเฉลี่ยแรงกระตุก หรือกระชากที่เกิดขึ้น ไปที่ลำตัวด้วย  และเข็มขัดนี้ส่วนมาก จะผลิตมาจากวัสดุที่มีความอ่อนนุ่ม แข็งแรง ทดทาน และยืดหยุ่นได้ดี เพื่อช่วยลดแรงกระแทกของลำตัวได้อีก ชั้นหนึ่งด้วย




รองเท้านิรภัย (Foot Protection)  หรือบางครั้งเรียกกันว่า รองเท้าหัวเหล็ก เป็นอุปกรณ์ที่ถูกออกแบบมา เพื่อต้านทานแรงกระแทก  ต้านแรงทับจากวัสดุ  หรือต้านแรงบีบทับ บริเวณหัวแม่เท้า  เพราะรองเท้าประเภทนี้มีส่วนประกอบตรงปลายเท้าเป็นโครงเหล็ก  ผลิตมาเพื่อสำหรับทนแรงวัตถุหล่นทับ ใส่ป้องกันกระดูกเท้าส่วนบน ป้องกันอันตรายจาก กระแสไฟฟ้ารั้ว  ป้องกันแรงกระแทก  และป้องกันน้ำซึมเข้ารองเท้า   ป้องกันการรั้วซึมของน้ำมัน และสารเคมี  ซึ่งรองเท้าประเภทนี้ ได้ผ่านการทดสอบแรงบีบอัดมาแล้ว  นับว่าเหมาะสำหรับใช้ในงานภาคอุตสาหกรรมที่มีพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดอันตราย


                    การตระหนักถึงความจำเป็นในการสวมเครื่องป้องกันอันตรายในขณะทำงานนั้น  นับว่าเป็นเรื่องสำคัญมากในการทำงานในสถานที่ ที่อาจจะเกิดอันตรายได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะงานที่เสี่ยงอันตรายสูง ประเภทงานก่อสร้าง  งานอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลหนัก  งานที่เกี่ยวข้องกับสารอันตราย และอื่น ๆ อีกมากมาย ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องให้ความใส่ใจเป็นเรื่องพิเศษว่าต้องทำ ต้องปฏิบัติ ตัวผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ในความเสี่ยงโดยตรงต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน อย่างครบถ้วนถ้าไม่มีก็ควรก็ควรเรียกหาจากผู้เป็นหัวหน้างาน เพราะเรื่องการจัดหาอุปกรณ์นี้ก็เป็นหน้าที่ของผู้เป็นหัวหน้างาน หรือผู้บริหารโดยตรง  โดยเฉพาะผู้บริหารก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องทำการอบรม ทำความเข้าใจใสเรื่องความปลอดภัยในการทำงานให้มาก เพราะนอกจากจะลดความสูญเสียในระดับบุคคลได้มากแล้ว ยังลดความสูญเปล่าในระบบเศรษฐกิจได้อีกมาก อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาขีดความสามารถในงานผลิตของภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมทั้งประเทศได้อีกด้วย


                   ---------------------------------------------
สนับสนุนภาพ และข้อมูล จาก 
บริษัท ไทแทน เครน จำกัด    1/19 หมู่ 1 ต.พิมพา อ.บางปะกง จ. ฉะเชิงเทรา 24810 ประเทศไทย
โทร.  038-571-666-9 ,  แฟ็กซ์. 038-571-665